"กินเจ" อย่างไรให้สุขภาพดี เสริมภูมิคุ้มกัน


 


         ปัจจุบันการตื่นตัวเรื่องของการดูแลสุขภาพมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นตามกระแสโลก เนื่องจากสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลงไปมา ความเป็นอยู่ที่ต้องเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และมลพิษต่างๆ รอบตัว ส่งผลให้การบริโภคอาหารธรรมชาติ หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป ลดการรับประทานเนื้อสัตว์ ดูจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลสุขภาพที่กำลังได้รับความนิยมของผู้คนยุคนี้ และหนึ่งในช่วงเวลาดี ๆ ที่ใครหลายคนจะได้ถือศีลบำเพ็ญธรรม และงดรับประทานเนื้อสัตว์ไปพร้อม ๆ กันด้วยเลยนั้น คงจะปฏิเสธ "เทศกาลถือศีลกินเจ" ไปไม่ได้ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 (ตามปฏิทินจีน) โดยในปีนี้จะตรงกับวันที่ 15-23 ตุลาคมนี้
      
       ศัลยา คงสมบูรณ์เวช นักกำหนดอาหารขึ้นทะเบียนวิชาชีพจากสหรัฐอเมริกา บอกว่า การกินเจเป็นสิ่งที่ดี แต่การกินเจต้องรู้จักเลือก และผสมผสานวัตถุดิบในการประกอบอาหารให้เหมาะสม เพื่อจะได้รับสารอาหารที่หลากหลาย และสมดุลด้วย เช่น ผัก ผลไม้ เมล็ดธัญพืชจำพวก ข้าว ถั่วต่างๆ งา ล้วนแล้วแต่ให้คุณค่าสารอาหารที่ต่างกันออกไป สำหรับชาวเจแล้วต้องใส่ใจที่จะรับประทานโปรตีนจากพืชให้เพียงพอกับที่ร่างกายต้องการ อาหารเจจะนิยมใช้ถั่วเหลือง และเห็ดเป็นแหล่งโปรตีนที่ดีไม่แพ้เนื้อสัตว์ เห็ดมีกรดอะมิโนจำเป็นที่ร่างกายต้องการครบถ้วน นอกจากนี้เห็ดยังเป็นแหล่งที่ดีของวิตามิน แร่ธาตุ รวมทั้งธาตุเหล็ก และซีลีเนียมซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
      
       ที่สำคัญอาหารที่มีรสชาติเฉพาะตัวอย่างเห็ดบางชนิดยังมีการบันทึกว่ามีการใช้ในตำราแพทย์ของจีน ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นหรือประมาณ คศ.200 แม้ทุกวันนี้การแพทย์แผนตะวันตกจะแพร่หลายไปทั่วโลก แต่การแพทย์แผนจีนก็ยังคงสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา มีผลการวิจัยจำนวนมากรายงานถึงประสิทธิภาพของเห็ดทางการแพทย์ในประเทศญี่ปุ่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา และเกาหลี ส่งผลให้มีการใช้เห็ดทางการแพทย์เพื่อเสริมสร้างสุขภาพ ป้องกันและรักษาโรคแพร่หลายมากยิ่งขึ้น
      


       "แต่ก็ใช่ว่าเห็ดทุกชนิดจะมีคุณสมบัติในการบำรุงรักษาทั้งหมด มีเห็ดเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่มีสรรพคุณทางยาและได้รับการยอมรับว่าเป็นเห็ดทางการแพทย์อาทิ เห็ดยามาบูชิตาเกะ เห็ดไมตาเกะ เห็ดหลินจือ เห็ดชิตาเกะ ถั่งเฉ้า เห็ดแครง เป็นต้น ซึ่งมีผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้วว่าช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ปลอดภัยและให้ประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย เช่น สารประกอบในกลุ่มโพลีแซ็คคาไรด์และเบต้ากลูแคนที่สกัดได้จากเห็ด มีส่วนช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยในการกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาว เพื่อปรับสมดุลการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้ได้ประสิทธิภาพที่เหมาะสมกับการต่อต้านเชื้อโรคและเซลล์มะเร็ง จึงเปรียบได้กับการยกระดับภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย" นักกำหนดอาหารให้ข้อมูล
      
       ส่วนในเรื่องที่มีบางคนสงสัยว่า การกินเจให้ผลดีต่อสุขภาพจริงไหม และจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารหรือไม่นั้น นักกำหนดอาหารท่านนี้บอกว่า อาหารเจ เต็มไปด้วยผักผลไม้และธัญพืช มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมาก ทั้งวิตามิน แร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระ สารพฤกษเคมี และใยอาหาร ฯลฯ อย่างผลไม้ที่มีฤทธิ์ของการต้านอนุมูลอิสระสูงสุด ได้แก่ พรุน และบิลเบอรี่ ที่มีสารแอนโธไซยานิน ซึ่งอยู่ในกลุ่มของสารฟลาโวนอยด์ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันความเสื่อมของจอประสาทตา มีใยอาหารช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งเต้านม โดยใยอาหารชนิดละลายน้ำช่วยลดคอเลสเทรอลและระดับน้ำตาล ส่วนชนิดไม่ละลายน้ำช่วยป้องกันท้องผูกและมะเร็งในลำไส้ ผักผลไม้ส่วนใหญ่เป็นแหล่งใยอาหารทั้งสองชนิดโดยเฉพาะใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำ แต่ใยอาหารที่ละลายน้ำจะมีน้อยกว่ายกเว้นผักผลไม้บางชนิดที่มีใยอาหารที่ละลายน้ำสูงได้แก่ พรุน ส้ม กล้วย แอปเปิล มะเขือยาว ฝักกระเจี๊ยบ เป็นต้น
      
       แต่เพื่อป้องกันไม่ให้ขาดสารอาหารบางชนิด ชาวเจควรเลือกรับประทานอาหารเจอย่างถูกวิธี สารอาหารที่ต้องเน้นเป็นพิเศษนอกเหนือจากโปรตีนก็คือ อาหารที่มีธาตุเหล็ก แคลเซียม วิตามินบี 2 หรือ ไรโบเฟลวิน วิตามินบี 12 วิตามินดี และสังกะสี เพื่อร่างกายจะได้รับสารอาหารครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการ ที่สำคัญควรดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพราะอาหารที่มีกากใยสูงต้องการน้ำในการทำงานหากดื่มน้ำไม่พออาจทำให้เกิดอาการท้องอืด มีแก๊ส ปวดท้องได้
    

  
       เห็นได้ว่า การกินเจอย่างถูกหลัก นอกจากจะช่วยให้ได้รับประทานอาหารที่สด สะอาด และมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว การงดเนื้อสัตว์และหันมาเพิ่มอาหารโปรตีนจากพืชให้ได้ปริมาณเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ซึ่งอาหารเหล่านี้ยังเป็นแหล่งเสริมภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกายที่จะรับมือกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคได้อีกด้วย ขณะเดียวกันยังได้บุญ ชำระล้างจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ถือได้ว่าเป็นฤกษ์งามยามดีที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีทั้งทางกายและทางใจ ไม่แน่ ใครบางคนอาจติดใจถึงขั้นกินเจกันไปตลอดเลยก็เป็นได้ เพราะแค่ช่วงกินเจระยะสั้น ๆ ก็รู้สึกได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจในทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน
      
       ข้อมูลประกอบข่าว
      
       ตามธรรมเนียมนิยมแต่โบราณ "การกินเจ" นอกจากจะต้องงดบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์ทุกชนิดจากสัตว์ เช่น ไข่ นม น้ำผึ้งแล้ว ยังห้ามบริโภคผักที่มีกลิ่นฉุนบางชนิด เช่น หัวหอม กระเทียม หลักเกียว (กระเทียมโทนจีน) กุยช่าย ใบยาสูบ เพราะชาวเจเชื่อว่า ผักที่มีกลิ่นฉุน จะเข้าไปทำลายธาตุทั้ง 5 ในร่างกายคือ ธาตุน้ำ ไฟ ดิน ไม้และโลหะ ส่งผลให้อวัยวะภายในร่างกายทำงานไม่ปกติ ส่วนการงดเนื้อสัตว์ทุกชนิดและใช้โปรตีนจากเห็ดและถั่วชนิดต่าง ๆ แทน จะช่วยให้กระเพาะอาหารได้พักจากการย่อยเนื้อสัตว์ที่ทำประจำอยู่ นอกจากนี้การบริโภคผัก ผลไม้เพิ่มขึ้นยังช่วยให้ร่างกายได้รับเกลือแร่และวิตามินที่นำไปช่วยเสริมสร้างกระบวนการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังให้สารต้านอนุมูลอิสระ และสารพฤกษเคมีที่ช่วยในการเพิ่มภูมิต้านทาน ตลอดจนลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคเรื้อรังอื่นๆ อีกด้วย
 
 

ขอบคุณ ที่มา : life&family ; manageronline




แสดงความคิดเห็น






Pooyingnaka Wellness


Advertisement